รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วง 11 เดือน ปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) ยังคงแข็งแกร่ง ภาพรวมการค้าไทยกับโลกมีมูลค่า 1,553,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มูลค่า 1,273,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งไม่รวมประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี อินเดีย และฮ่องกง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการค้ารวม 901,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.52% ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ากว่า 698,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.82% และนำเข้ามูลค่า 202,784 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้า 495,716 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ตามลำดับ
สำหรับความตกลงการค้าเสรี (RCEP) ล่าสุดของไทยที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 พบว่า มูลค่าการค้าโดยรวมกว่า 1,286,028 ล้านบาท โดยส่งออกมูลค่ากว่า 971,508 ล้านบาท และนำเข้ากว่า 314,520 ล้านบาท .
นอกจากนี้ การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับ 9 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 พบว่า มูลค่าการค้ารวม 502,353 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.56% สินค้าเกษตรของไทยส่งออกมูลค่า 351,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.55% และนำเข้ามูลค่า 150,722 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 200,909 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปมาเลเซียเป็นตลาดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ อินโดนีเซียและกัมพูชา
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสถิติการค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลกยังคงเติบโตได้ดีและสินค้าเกษตรของไทยยังเป็นที่ต้องการและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการ ผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid ของจีน ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมการส่งออกผ่านช่องทางรถไฟจีน-ลาวมากขึ้น ส่งผลให้การผลิต การค้า และบริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานออกสู่ตลาด การดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้เกษตรกรสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การค้าเติบโตต่อไปในปี 2566